ประวัติ หลวงพ่อโอภาสี (ฉบับเต็ม)
ที่มา : หนังสือ ประวัติหลวงพ่อโอภาสี ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ปิดทองและฝังลูกนิมิตรวัดหลวงพ่อโอภาสี พ.ศ.๒๕๕๔
ภิกษุรูปหนึ่งที่บวชเรียนมาตั้งแต่ยังเล็ก มีศรัทธาแรงกล้าในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เผยแผ่หลักธรรมในแนวทางของท่านเพื่อให้คนมุ่งมั่นลดละ กิเลสจนเป็นที่เคารพนับถือ ปาฏิหาริย์ที่ท่านทำให้ผู้ศรัทธาได้พบเห็น ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธา แต่ท่านพูดเสมอว่า
โอภาสีไม่ใช่ผู้วิเศษใดๆ เป็นเพียงพระสงฆ์รูปหนึ่งเท่านั้น
คำกล่าวหลวงพ่อโอภาสี
หลวงพ่อโอภาสี มีนามเดิมว่า นายชวน มะลิพันธุ์ เกิดเมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ บิดาชื่อ นายมิตร มะลิพันธุ์ และมารดา ชื่อ นางล้วน มะลิพันธุ์ ทั้งสองให้กำเนิดบุตร-ธิดาทั้งหมด ๘ คน เป็นชาย ๔ หญิง ๔ โดยมีหลวงพ่อโอภาสี เป็นบุตรคนโต ถัดมาคือ นางแค ส่วนคน ที่สามคือ หลวงพ่อกิมเส็ง ฐิตธมฺโม ตามมาด้วย ด.ญ. สมอิ่ม (เสียชีวิตเมื่อ ตอนเป็นเด็ก) นายชม นางห้วน นายแปลง และ นางกิมฮั่ว
ตระกูลฝ่ายโยมบิดาของหลวงพ่อนั้นมีเชื้อสายจีน ครอบครัวมีฐานะพอ กินพอใช้ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านที่ หลวงพ่ออาศัยอยู่เมื่อยังเป็นเด็กนั้นอยู่ในไร่ มีอาณาเขตติดกับวัด แต่บิดาไม่ ถนัดทำไร่นาสวน ชอบทำการค้ามากกว่า จึงย้ายครอบครัวออกมาตั้งบ้านใหม่ที่ชุมชนตรอกไฟฟ้า ทำการค้าขายสินค้าทางเรือ เอาของกินของใช้ไปเร่ ขายตามคลองต่าง ๆ ในย่านปากพนัง
ด.ช.ชวน ลูกชายคนโตของบ้าน เป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย พูดจานุ่มนวล มีความขยันหมั่นเพียร ส่อแววเฉลียวฉลาดให้เห็นตั้งแต่เด็ก และเป็นผู้มีความใฝ่ฝันที่จะเรียนหนังสือให้สูง ๆ แต่เนื่องจากบิดา-มารดา เห็นว่า หากส่งเสียให้เรียน ก็จะขาดกำลังสำคัญในการทำงานของครอบครัวไป จึงบอกให้ ด.ช. ชวน รู้ว่าไม่สามารถที่จะส่งให้เรียนสูงได้ น้อง ๆ ยังเล็กกันอยู่ ต้องมาช่วยพ่อแม่ทํามาหากิน
แต่ ด.ช. ชวน ก็ไม่ละความพยายาม เขารบเร้าบิดา-มารดาอยู่เนือง ๆ จนวันหนึ่ง บิดาก็ตัดสินใจพาลูกชายคนโตไปฝากไว้ที่วัดใกล้ ๆ บ้าน เพื่อที่จะเรียนหนังสือและช่วยงานทางครอบครัวไปได้ด้วย วัดที่ท่านไปศึกษาในขณะนั้นคือวัดใต้ หรือวัดนันทาราม ท่านเป็นลูกศิษย์วัดอยู่จนอายุ ๑๕ ปี เรียนหนังสือจนจบชั้นสูงสุดของวัด แล้วท่านก็บอกกับบิดา-มารดาว่า อยากจะเรียนต่อให้สูงขึ้นไปอีก แต่นั่นหมายถึงว่าจะต้องไปเรียนต่อในเมือง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่พ่อ-แม่ยังมีน้องที่ต้องเลี้ยงอีก ๗ คน จึงอยากขอพ่อและแม่ไปบวชเป็นสามเณร ซึ่งจะได้เรียนทางธรรม และจะได้ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวไปบ้าง
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้นเอง บิดาของท่านจึงได้จัดให้ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนันทาราม โดยมีท่านสมภารนนท์ ผู้เป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นเป็นผู้ทำการบรรพชาให้ หลังจากบวชอยู่ที่วัดใต้ได้ ๑ ปี ท่าน สมภารนนท์เห็นว่าสามเณรชวนเป็นคนรักการศึกษาเล่าเรียนมาก ทั้งยังมีความฉลาด จึงอยากส่งเสริมให้ได้เรียนปริยัติธรรมสูงขึ้นไปอีก จึงนำสามเณรไปศึกษาต่อที่วัดท่าโพธิ์ ในอำเภอเมือง ซึ่งขณะนั้นถือเป็นสำนักเรียนปริยัติธรรมที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ใช้เวลาเพียงแค่ ๓ ปี สามเณรชวนก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก ครูบาอาจารย์ในสำนักวัดท่าโพธ์เห็นว่า ควรส่งเสริมให้เรียนต่ออีกทางด้านภาษา บาลี จึงได้ส่งตัวสามเณรมาศึกษาต่อ ณ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศ ในกรุงเทพฯ ไม่นานนักท่านก็มีอายุครบอุปสมบท จึงได้เข้าพิธีบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศ นั่นเอง
หลังจากศึกษาที่วัดบวรนิเวศ จนได้เปรียญธรรม 4 ประโยคและ เชี่ยวชาญในหลายภาษา เช่น บาลี สันสกฤต ฮินดู อังกฤษ เป็นต้น ทำให้ท่านได้เป็น “พระมหาชวน” ผู้เป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนสหธรรมิก และครูบาอาจารย์ และยังได้รับหน้าที่เป็นครูสอนปริยัติธรรม ทั้งบาลีและสันสกฤต ลูกศิษย์หลายรูปที่ท่านเคยสอน ได้กลายเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา
เป็นที่รู้กันดีว่า พระมหาชวนนั้นเป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัยมาก ๆ และสนใจศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานอีก จึงทำให้ท่านมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากพระนักศึกษาธรรมทั่วไป ท่านใช้ชีวิตอย่างสันโดษ มีความคิดเรื่องธรรมอย่างลึกซึ้ง แตกฉานในด้านปริยัติธรรม ท่านเริ่มผลงานการเขียน หนังสือกลอนธรรมะที่วัดบวรนิเวศแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า “โอภาสี บวรนิเวศ นาม “โอภาสี” นั้น เป็นชื่อที่ท่านตั้งขึ้นใหม่ โดยให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อว่า
พระมหาชวนนั้นได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ต่อแต่นี้ไปมีแต่เรา (โอภาสี) เหลืออยู่เพียงเท่านั้นเอง
คำกล่าวหลวงพ่อโอภาสี
การกล่าวเช่นนี้ ทำให้ผู้คนที่ได้ยิน บ้างก็คิดว่า ท่านได้ค้นพบแสงสว่างแห่งธรรมในรูปแบบใหม่ บ้างก็พูดไปในทำนองไม่ดี หลากหลาย
นับแต่ที่ท่านได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ของทุกอย่างที่เป็นของส่วนตัวของท่าน ท่านก็นำไปเผาไฟทั้งหมด เคร่งครัดในการทำวัตรเย็น และปฏิบัติสมาธิกรรมฐานโดยการบูชาไฟ หรือเพ่งกสิณไฟในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากพระมหาชวนคนเดิมและพระภิกษุในวัดบวรนิเวศเวลานั้นด้วย แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าคนที่นับถือศรัทธาท่านจะลดลง การณ์กลับเป็นว่ามีผู้มาศรัทธาท่านมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่แปลกของท่านอีกประการก็คือ ท่านนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มาก สังเกตได้จากภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีอยู่มากมายในกุฏิของท่าน และรูปถ่ายตัวท่านเองก็มักจะมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๕ อยู่ในมือท่านเสมอ นอกจากนี้ ท่านยังมีรูปหล่อทองเหลือง ทองแดงรมดำของรัชกาลที่ ๕ บูชาอยู่ในกุฏิของท่านด้วย เล่ากันว่าหลวงพ่อโอภาสีนั้น ได้กล่าวสรรเสริญพระบารมีของรัชกาลที่ ๕ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังบวชเป็นสามเณรแล้ว โดยท่านเคยกล่าวไว้ว่า
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่มีบุญญาภินิหาร อันยิ่งใหญ่มาก ปรากฏพระนามไปทั่วทิศ ทรงเล็งการณ์ไกลอะไรไว้ไม่เคยผิดพลาด อีกทั้งทรงเปรื่องปราชญ์ชำนิชำนาญในการรัฐประศาสน์และทรง พุทธวินัยอย่างเคร่งครัด ทรงปลดปล่อยทาสให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินสยาม
คำกล่าวหลวงพ่อโอภาสี
นับแต่วันที่พระมหาชวนเปลี่ยนชื่อเป็น “โอภาสี” ท่านก็มักจะไม่ค่อย พูดจากับพระรูปอื่นในวัดสักเท่าไร แต่ไปเน้นเรื่องการปฏิบัติมาก ๆ จนพระในวัดเห็นการบูชาเพลิงของท่านเป็นเรื่องแปลกพิสดาร และพระในวัดบางรูปก็กลัวไฟจะไหม้กุฏิ
ในบางโอกาส พระมหาโอภาสีได้ออกธุดงค์เพื่อไปหาความสงบ นั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานในป่ายังต่างจังหวัด ระหว่างทางที่ออกธุดงค์นั้น ท่านก็ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องว่านและสมุนไพรในการรักษาคนไปด้วย ท่านได้เก็บสะสมสมุนไพรเหล่านี้ไว้ ทั้งเพื่อรักษาตัวเองและผู้อื่นที่ท่านพบระหว่างทาง
ระหว่างการธุดงค์จากวัดบวรนิเวศไปยังนครศรีธรรมราชบ้านเกิดของท่าน ท่านได้แวะพักตามจังหวัดต่าง ๆ และทำให้ท่านได้พบแสงแห่งธรรมในแง่มุมใหม่ เมื่อท่านกลับมายังวัดบวรนิเวศอีกครั้ง ได้มีภิกษุและสามเณรที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านและกำลังเตรียมตัวสอบเปรียญธรรมมารอพบท่านและขอให้ท่านกวดวิชาให้ ท่านได้กล่าวกับศิษย์เหล่านั้นว่า ทฤษฎีทั้งหลายที่ได้สอนให้ไป แม้จะรู้แล้วอย่างถ่องแท้ แต่หากเราไม่นำมาปฏิบัติ ก็ไม่อาจพิสูจน์ซึ่งความจริงได้ และแม้จะสอบเปรียญธรรมได้ ๙ ประโยค ก็ไม่อาจไปถึงซึ่งนิพพานได้ เว้นเสียแต่จะปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะเอาไว้ให้เท่านั้นเอง
หลังกลับจากธุดงค์ครั้งนั้น ท่านก็เริ่มบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดมากขึ้น มีประชาชนให้ความเคารพท่านอย่างมากเนื่องจากท่านเป็นพระที่สันโดษ เน้นนั่งสมาธิเพื่อเข้าฌาณ ฉันอาหารแต่น้อยโดยฉันเฉพาะมื้อเพล เล่ากันว่าท่านแทบจะไม่ฉันข้าวเลย ตักข้าวเข้าปากเพียงแค่ ๓ คำเท่านั้น แต่ท่านก็ครองตัวมาได้
ทว่าสิ่งที่แปลกไปคือ เมื่อมีคนนำของมาถวายท่านมาก ท่านก็จะแจกให้แก่สามเณรในวัดและประชาชน ที่เหลือก็โยนเข้ากองไฟหมด จนกุฏิของท่านมีควันไฟพวยพุ่งออกมามาก เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกวัด ไปต่างๆ นานา
จนวันหนึ่ง พระในวัดและชาวบ้านใกล้วัดได้นำเรื่องไปบอก เจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศ และพระอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โดยขอให้เรียกตัวท่านมาว่ากล่าวตักเตือนในเรื่อง การเผาสิ่งของในวัดบวรนิเวศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้วัดในสักวันได้
แต่กระนั้น การบูชาเพลิงของท่านก็ยังคงเกิดขึ้นอีก ท่านได้อธิบายถึง การเผาสิ่งของของท่านไว้ว่า โดยปกติแล้วพระเพลิงเผาผลาญสรรพสิ่งใดใน โลกจนมอดไหม้เป็นจุลมหาจุลไปจนหมดสิ้น ก็จัดว่าเป็นธาตุที่มีความร้อน สูงอยู่ แต่ถึงกระนั้น จิตของมนุษย์กลับมีความร้อนแรงยิ่งกว่ากองเพลิง ความร้อนของมนุษย์ เกิดจากการเผาผลาญของดวงจิตด้วย โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชาต่าง ๆ อีกมากมาย การที่ท่านได้นำเอาสรรพสิ่งวัตถุทั้งหลาย ที่ผู้คนนำมาถวายไปเผาทำลายลง ก็เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นการดับกิเลสทั้งหลายให้หมดไปจากใจเราเท่านั้นเอง
ช่วงก่อนเกิดสงครามอินโดจีน ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อโอภาสีได้ เริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรก โดยวันที่ท่านสร้างนั้น ตกอยู่ในวันเสาร์ห้า พอดี
มูลเหตุของการสร้างวัตถุมงคลนั้น มาจากการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้ฟังท่านบอกว่า เมืองไทยนี้เห็นทีจะต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามแน่นอน นายทหารผู้นั้นจึงอ้อนวอนขอร้องให้หลวงพ่อโอภาสี สร้างวัตถุมงคล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารที่ต้องออกไปรบ และแก่ประชาชนที่อาจต้องตกอยู่ใต้ภาวะสงคราม ให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยให้รักกันสามัคคีกัน
หลวงพ่อจึงมีดำริให้สร้างพระเครื่องครั้งแรกขึ้นประมาณ ๓๐๐ องค์ ทำจากผงธูปเทียนต่าง ๆ ที่นำมาเผาเพ่งกสิณไฟ และว่านต่าง ๆ ที่ท่านเก็บมาเมื่อครั้งออกธุดงค์ในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนวัตถุดิบต่าง ๆ อีกมากมายในการทำพระเครื่องในยุคนั้น นำมาผสมกันเป็นมวลสารมงคลของท่าน โดยให้ศิษย์ใกล้ชิดทำบล็อกพิมพ์ด้วยไม้ และท่านจะปลุกเสกในกุฏิท่านก่อนในวันเสาร์ห้า จากนั้นได้ให้ศิษย์ไปนิมนต์หลวงพ่อจากวัดต่าง ๆ อาทิ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง มาร่วมกันปลุกเสกพระยุคนี้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความขลังยิ่งขึ้น
หลังการปลุกเสก พระเครื่องได้ถูกนำมาแจกจ่ายแก่ทหารประชาชนลูกศิษย์ จนหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ความต้องการวัตถุมงคลของท่านนั้นมีอยู่มาก จนทำให้ศิษย์ของท่านได้พิมพ์พระเพิ่มเติมขึ้นอีกจากมวลสารเดิม และมวลสารที่หามาใหม่ โดยทำออกมาในหลายบล็อกพิมพ์ พิมพ์ที่พบเห็นกันบ่อย คือ พิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์พระขุนแผน พิมพ์พระรอด พิมพ์พระเสมา พิมพ์นางพญา พิมพ์ปิดตา พิมพ์ผงว่านยันต์ เป็นต้น ประมาณการจัดสร้างใหม่นี้ ราว ๑,๑๐๐ องค์ได้
ต่อมา ได้มีการสร้างเสื้อยันต์แจกทหาร ในพิธีพิมพ์ยันต์ลงบนเสื้อนี้ ท่านได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น โดยท่านได้เอาเสื้อกั๊กมาตั้งตรงหน้าท่านที ละมัด มัดละ ๕๐ ตัว แล้วท่านก็เอาบล็อกจุ่มหมึกดำ มากดทับลงบนเสื้อตัวแรกเพียงตัวเดียวเท่านั้น ท่านท่องคาถาขณะทำไปด้วย พอจบคาถา ก็บอก ให้ลูกศิษย์ยกเสื้อมัดนี้ออกไป นำมัดใหม่มาวาง บรรดาลูกศิษย์ต่างสงสัยว่า หลวงพ่อกดพิมพ์ลงบนเสื้อเพียงตัวเดียว แล้วตัวอื่น ๆ จะติดหมึกพิมพ์ได้อย่างไร แต่เมื่อลูกศิษย์แกะห่อมัดเสื้อนำออกมาดูทีละตัว ก็ปรากฏว่าตัวแรกพิมพ์ไว้ชัดเจนอย่างไร ตัวอื่น ๆ ก็พิมพ์ชัดเจนเช่นนี้ไปทุกตัว
ก่อนที่ท่านจะออกจากวัดบวรนิเวศวิหาร คำทำนายของท่าน เรื่อง สงครามก็เกิดเป็นจริงขึ้นมา มีผู้มาขอให้ท่านทำเครื่องรางของขลังให้ มากมาย หลวงพ่อจึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลอีกครั้ง เป็นผ้าประเจียดกับทราย เสก ทำพิธีพุทธาภิเษกตามแบบโบราณในอุโบสถของวัด และได้นิมนต์ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จากอยุธยา หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จากนนทบุรี และหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ที่ปราจีนบุรี มาร่วมสวดมนต์ทำพิธีปลุกเสกตั้งแต่หัวค่ำไปจนรุ่งเช้าของวันใหม่ โดยมีพระลูกวัดต่างผลัดกันสวดมนต์เป็นชุด ๆ ตลอดคืนผลัดเปลี่ยนกันไป
ราวตี ๔ ของคืนวันทำพิธีปลุกเสกนั้น ทุกคนที่อยู่ในพิธีต่างก็ได้ยินเสียง ดังเหมือนม้าศึกวิ่งรอบ ๆ พระอุโบสถ หมอกและควัน ละอองไอน้ำ ไฟฟ้า เดี๋ยวก็ลุกโชติ เดี๋ยวก็หรี่ลง ลมพายุพัดแรงมาก แต่ไม่มีสิ่งใดพังลงเลย หลังเสร็จพิธี นิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็สลายหายไปสิ้น
ในเวลานั้น ผู้คนทั่วไปเริ่มได้ยินนามหลวงพ่อโอภาสีกันบ้างแล้ว ทางราชการซึ่งในสมัยนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มักนิมนต์ท่านให้มาทำพิธีและขอของดีจากท่าน โดยเฉพาะทรายเสก ที่ผู้คนนิยมขอเพื่อนำมาโปรยปรายลงบนหลังคาบ้าน ป้องกันภัยจากลูกระเบิดที่เครื่องบินปล่อยลงมา ว่ากันว่าสถานที่ที่ท่านไปทำพิธีให้นั้น ส่วนมากจะปลอดภัยทั้งสิ้น ส่วนบรรดาลูกศิษย์มักนิยมขอธงยันต์ที่ทำด้วยผ้าขาว เพื่อใช้โบกเครื่องบินให้บินผ่านไปทิ้งระเบิดไกล ๆ แล้วก็ท่องคาถาของหลวงพ่อกำกับไปด้วยว่า
อิติ สุคะโต อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง
ร่ำลือกันว่า วัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ ณ วัดบวรนิเวศวิหารนี้ มีพุทธคุณแคล้วคลาดมาก ต่อมาไม่นานนัก หลวงพ่อโอภาสีได้ตัดสินใจออกจากวัดบวรฯ เพื่อไปหาสถานที่ในการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่าน ซึ่งเป็นการขจัดกิเลสให้หมดไปจากใจด้วยพระเพลิง ก่อนออกจากวัด ท่านได้แวะไปพบกับองค์พจน สุนทร บ๋าวเอิง เจ้าอาวาสวัดญวน แถวสะพานขาว ซึ่งเป็นพระที่ท่านเคารพนับถือ เพื่อปรึกษาว่าท่านควรจะไปอยู่ที่ใดดี หลวงพ่อบ๋าวเอิง แนะนำไปว่า ที่บางมดมีศาลเจ้าจีนแห่งหนึ่ง ห่างไกลความเจริญมาก มีความสงบเหมาะ แก่การที่หลวงพ่อโอภาสีจะปฏิบัติธรรมตามแบบของท่าน
หลังเก็บอัฐบริขารตามพระวินัยของสงฆ์ กับเก็บวัตถุที่ท่านเคารพบูชา ซึ่งก็คือองค์หล่อพระบรมรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว หลวงพ่อโอภาสีก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ศาลเจ้าบางมด และได้มาปักกลดที่ในสวนมะพร้าวแห่งหนึ่งตามคำแนะนำของหลวงพ่อบ๋าวเอิง เจ้าของสวนดีใจมากที่มีพระมาปักกลดในสวนของตน จึงนำน้ำมะตูมมาถวาย ชาวบ้านแถวนั้นก็พากันมาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ครั้นเมื่อรู้ว่ามาจากวัดในกรุงเทพฯ ก็ยิ่งศรัทธามากขึ้น เจ้าของสวนก็อนุญาตให้ท่านปักกลดอยู่นาน ๆ เพื่อโปรดธรรมแก่ชาวบ้านย่านนั้น
เมื่อมาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อก็ยังคงปฏิบัติวัตรกิจเช่นเดิม บำเพ็ญเพียรด้วยการสุมไฟตลอดทั้งวันทั้งคืน และฉันอาหารแต่น้อย ชาวบ้านที่นั่นเล่ากันว่า หลวงพ่อเอาข้าวมาปั้นเป็นก้อน จิ้มกับน้ำพริกแล้วนำเข้าปากครึ่งก้อน เมื่อท่านมองขึ้นไปบนฟ้า เห็นฝูงอีกาดำส่งเสียงร้องบินกันมา หลวงพ่อพูดว่า เขาหิวกันมากนะจึงพากันบินมา จากนั้นจึงนำข้าวที่เหลือครึ่งก้อนโยนให้ฝูงกากิน หลวงพ่อทำเช่นนี้ทุกวัน ชาวบ้านในสวนบางมดพอเห็นเช่นนั้น ต่างก็นับถือศรัทธาในความมีเมตตาของหลวงพ่อ จึงพากันนำเอาอาหารมาถวายหลวงพ่อมากมายทุกวัน หลังจากหลวงพ่อฉันเพลแล้ว ท่านก็จะ สนทนาธรรมกับชาวบ้านวันละ ๓๐ นาที ทำเช่นนี้เป็นปกติทุกวัน เมื่อหมดเวลาสนทนาธรรมแล้ว ท่านก็จะนั่งสุมไฟปฏิบัติสมาธิตามแบบของท่าน แสงไฟ ควันไฟ จะสว่างหน้ากลดของท่านตลอดเวลา
ครั้งหนึ่ง ระหว่างสนทนาธรรมประจำวัน มีชาวบ้านคนหนึ่งได้ถามว่า หลวงพ่อครับ การสุมไฟตลอดวันตลอดคืนมีดีอย่างไรครับ หลวงพ่อก็ตอบว่า ดีสิโยม พระเพลิงเป็นธาตุไฟ เร่าร้อนเปรียบได้ดังจิตใจของมนุษย์ ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา การจุดไฟตลอดเวลาแล้วพิจารณาแบบเตโชกสิณนั้น ก็เป็นการทำความเพียรอย่างหนึ่ง
จากวันนั้นมา ชาวบ้านที่ได้ฟังก็เริ่มเข้าใจแนวทางการปฏิบัติธรรมของท่าน แล้วได้เล่ากันปากต่อปากไปทั้งสวนบางมด บริเวณที่ท่านปักกลดพำนักนั้น หลวงพ่อโอภาสีได้นำเอาสายสิญจน์มาล้อมรอบต้นมะพร้าวใกล้ ๆ หลังจากนั้น เวลาใครมาหา ท่านก็จะบอกว่า ประเดี๋ยวอีกไม่นานก็จะมีจระเข้ขึ้นมากินเป็ดไก่จนหมด ขอให้เตรียมเรือกันไว้ให้ดี ชาวบ้านที่ได้ยินท่านพูดก็ไม่เข้าใจ จะมีจระเข้จากที่ไหนขึ้นมากินเป็ดไก่ในสวนนี้ได้ ในเมื่อรอบ ๆ นี้ ก็เป็นแต่สวนผลไม้ทั้งหมด
หลังจากนั้นไม่นาน หลวงพ่อโอภาสีก็ถอดกลดจากสวนบางมด ออกธุดงค์ไปจำพรรษาอยู่ที่ยอดพระปรางค์วัดวิชัยญาติ ชาวบ้านที่นั่นไม่มีใคร สุงสิงกับท่าน ท่านก็ไม่ได้สุงสิงกับใคร ปฏิบัติธรรมแล้วก็อยู่บนยอดพระปรางค์นั้นตลอด จะลงมาก็เพื่อเข้าห้องน้ำเป็นบางเวลาเท่านั้น ไม่นานนัก สิ่งที่ท่านปรารภไว้กับชาวสวนบางมดก็เกิดขึ้น
เกิดอุทกภัยขึ้นในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง คนในกรุงฯ เดือดร้อนกันหนัก ชาวสวนบางมดก็หมดตัวกันไปเป็นแถว เพราะสวนผลไม้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาก
พระในวัดพิชัยญาติและชาวบ้านแถบนั้น ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน มีแต่หลวงพ่อเท่านั้นที่ไม่เดือดร้อนอันใดมาถึงเวลานี้ พระและชาวบ้านแถววัดพิชัยญาติจึงได้เข้าใจว่า ทำไมหลวงพ่อโอภาสีถึงได้อยู่แต่บนยอดพระปรางค์ ต่างเห็นว่าหลวงพ่อมีญาณวิเศษ สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่อน้ำลด ชาวบ้านจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน อาหาร ผลไม้มาถวายท่าน ชาวบ้านบางกลุ่มก็มาต่อว่าหลวงพ่อว่า ท่านรู้ล่วงหน้าแล้ว ทำไมท่านจึงไม่บอก
ท่านก็ได้อธิบายว่า สิ่งที่เห็นนั้นบอกไม่ได้ มันเป็นโชคชะตาของบ้านเมืองที่ได้ถูกกำหนดไว้ อาตมาก็ได้แสดงปริศนาธรรมให้ได้รู้ได้ดูแล้วนะโยม จากนั้นท่านก็เก็บกลด ออกธุดงค์กลับสู่สวนบางมด แต่ก่อนจะจากไป ท่านก็ได้พูดขึ้นว่าต่อไป สะพานพุทธจะแยกออกเป็นสองสะพานในไม่ช้านี้
เมื่อหลวงพ่อโอภาสีกลับมาปักกลดที่สวนมะพร้าวได้สักพักชาวบ้าน บางมดเห็นว่า หลวงพ่อนั่งสมาธิ ตากแดด ตากลม ตากน้ำ ค้างมานานแล้ว จึงได้ร่วมใจกันปลูกสร้างอาศรมน้อย ๆ ขึ้นมา ๑ หลัง มีเสายกพื้นจากดิน ราว ๖ เมตร ฝาและหลังคามุงด้วยจาก มีห้อง ๒ ห้อง แบ่งเป็นห้องนอน และห้องน้ำ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ได้นิมนต์หลวงพ่อขึ้นอาศรมหลังน้อยนี้ บรรดาชายหนุ่มทั้งหลายต่างก็พากันมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อและลูกศิษย์ช่วยกันพัฒนาพื้นที่รกร้างแถว ๆ นั้น ให้โล่งเตียน จนในเวลาต่อมา นาย เหลือ และ นางพัน บุญบันเทิง เจ้าของที่ดิน ก็ตัดสินใจอุทิศที่ดินผืนนั้น ถวายให้หลวงพ่อโอภาสี เพื่อจะได้ดำเนินการสร้างสำนักอาศรม หรือสร้างเป็นวัดต่อไปในภายภาคหน้า

ที่ดินแปลง นี้มีเนื้อที่ทั้งหมด ๖ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา ซึ่งก็คือที่ตั้งของวัดหลวงพ่อโอภาสีในปัจจุบันนี้เอง
หลวงพ่อโอภาสีบูชาเพลิงเป็นพุทธบูชามาโดยตลอด เมื่อญาติโยมนำสิ่งใดมาถวาย ท่านก็รับแล้วให้พร ท่านใช้สอยของเท่าที่จำเป็น ที่เหลือก็เอาไปเผาไฟหมด แต่แทนที่ญาติโยมจะรู้สึกเสียดายหรือไม่พอใจท่าน ปรากฏว่า ญาติโยมกลับนำของมาถวายกันอีกมากมาย โดยเฉพาะคนจีนแถวบางมด และในย่านใกล้เคียง เนื่องจากการเผาของนี้ตรงตามประเพณีของชาวจีน ที่นิยมเผาของใช้ต่าง ๆ กระดาษเงิน กระดาษทอง ไปให้คนตาย
ก่อนเผาของทุกครั้ง หลวงพ่อโอภาสีจะถามผู้มาถวายของทุกครั้งว่า โยม เสียดายไหม ถ้าไม่เสียดาย อาตมาจะเผาหมดนะ และก่อนเผาทุกครั้ง ท่านก็จะแบ่งของแจกเด็กบ้าง คนชราบ้าง จากนั้นท่านก็จะเผาหมด ไม่เหลือเก็บไว้เลย โดยจะเผาทั้งวันทั้งคืนเป็นปกติประจำของท่านเสมอ มีเรื่องเล่ากันว่า ท่านมักแจกธนบัตรใบละ ๑ บาท ให้แก่เด็ก ท่านจะล้วงมือลงไปในย่าม เอาธนบัตรออกมา แต่ทุกคนที่รู้ที่เห็น ก็พากันสงสัย ว่าในย่ามของท่านที่แฟบแบนนั้น มีเงินมาแจกเด็ก ๆ จนเหมือนไม่มีวันหมดได้อย่างไร ในเมื่อใครมาถวายอะไรให้ท่าน ท่านก็ไม่เคยเก็บเลย นำมาเผาไฟจนหมด
บางครั้ง หลวงพ่อก็แจกเงินก้นถุงใบละร้อย ให้แก่ญาติโยมและก็เป็นเช่นเดียวกันกับการแจกธนบัตรให้เด็ก ๆ คือ ควักแจกเท่าไรก็ไม่หมด ทั้ง ๆ ที่ย่ามของท่านก็แบนแฟบ ครั้งหนึ่ง ท่านได้แจกธนบัตรใบละร้อยจำนวน ๒ ใบ ให้คุณหลวงประเสริฐวิจารย์ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น คุณหลวงได้ธนบัตรแล้วก็นึกถึงเพื่อนซึ่งเดินทางไปรับราชการยังต่างประเทศ เพื่อนคนนี้เคยเปรยกับคุณหลวงไว้ว่า อยากได้ธนบัตรกันถุงของหลวงพ่อโอภาสีสักใบ แต่ไม่มีโอกาสมาพบท่านเลย เพราะตนอยู่ต่างประเทศ
เมื่อคุณหลวงนึกได้ดังนี้ จึงตัดสินใจส่งจดหมายพร้อมธนบัตร ๑ ใบ ไป ให้เพื่อนที่กรุงวอชิงตัน อเมริกา แต่ก่อนจะส่งไป คุณหลวงได้จดหมายเลขทุกตัวบนธนบัตรใบนั้นเอาไว้ ต่อมาไม่นาน คุณหลวงได้มากราบหลวงพ่ออีกครั้ง ยังไม่ทันพูดอะไร หลวงพ่อก็หยิบธนบัตรใบละร้อยออกมา ยื่นให้คุณหลวง พร้อมกับพูดว่า “ไม่ต้องแปลกใจหรอก เขาไปเที่ยววอชิงตันมาแล้ว เอ้า รับของกลับ คืนไปสิ”
ได้ยินเช่นนั้น คุณหลวงก็แปลกใจมาก แต่ก็ยิ้มและรับธนบัตรไว้ คิดไม่ถึงว่า หลวงพ่อจะล่วงรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ของตนได้ คุณหลวงถวายของแก่หลวงพ่อ และนั่งสนทนาธรรมได้สักพักก็ลากลับ เมื่อมาถึงบ้าน คุณหลวงก็เอาธนบัตรใบละร้อยที่หลวงพ่อให้มาใหม่ ดูหมายเลขเทียบกับในกระดาษที่ตนจดไว้ ปรากฏว่าเลขทุกตัวตรงกันหมด เหมือนเป็นใบเดียวกันเลย
ด้วยความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง คุณหลวงได้โทรเลขไปหาเพื่อนว่า ธนบัตรที่ตนให้ไว้นั้นยังอยู่หรือเปล่า เพื่อนก็โทรเลขบอกมาว่า ยังอยู่ เก็บไว้ในกระเป๋าตลอด นี่คือปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อ ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจให้ผู้คนยิ่งเคารพท่าน
บางครั้งคนที่มาถวายของให้ท่านแล้ว เกิดอาการเสียดายภายหลังก็มี สามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ไปทำบุญกับหลวงพ่อโอภาสี ภรรยาถวายทองคำหนัก ๒ บาท ไปหนึ่งเส้น หลวงพ่อก็ถามเช่นที่เคยถามผู้ถวายของว่า โยม เสียดายมั้ย
ฝ่ายภรรยาตอบว่า ไม่เสียดายค่ะ ในขณะที่สามีไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ได้แต่ทำตาปริบ ๆ มองหลวงพ่อโอภาสีโยนสายสร้อยเข้ากองไฟ
ก่อนทั้งคู่ลากลับ หลวงพ่อก็พูดขึ้นมาว่า โยมผู้ชาย ถ้าเสียดายก็ให้ไปเอาคืนที่บ้านนะ ระหว่างทางที่ทั้งสองกลับบ้าน สามี-ภรรยาคู่นี้ก็ถกเถียงกันมาตลอด พอมาถึงบ้าน ทั้งคู่พบว่าสายสร้อยเส้นเดิมที่ถวายหลวงพ่อไปนั้น ได้กลับมาอยู่ที่ตู้เก็บของมีค่าของพวกเขาเหมือนเดิม ทั้งสองจึงได้พูดเล่าสรรเสริญหลวงพ่อโอภาสีไปว่า ท่านรู้จิตใจของผู้ที่ไปเฝ้าท่าน และท่านมีเมตตาธรรมสูง ไม่อยากสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ที่มาทำบุญกับท่าน ให้ต้องไปทะเลาะแล้วมีอันเลิกรากันไป เพราะภรรยาอยากทำบุญ แต่สามีไม่อยาก และมีความเสียดายในสร้อยเส้นนั้น
ด้วยเมตตาธรรมของหลวงพ่อ ปาฏิหาริย์จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง การเผาสิ่งของ ของหลวงพ่อโอภาสีเกิดขึ้นตลอดวันและคืน ทำให้ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านบางกลุ่มแถวสวนส้มบางมดไม่พอใจ เนื่องจากเกรงว่าควันไฟจะเป็นอุปสรรคกับการติดดอกออกผลของสวนส้ม จึงรวมกลุ่มกันราว ๑๐ คน เข้าไปกราบหลวงพ่อ และเล่าให้หลวงพ่อฟังถึงความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการเผาสิ่งของนี้
แต่หลวงพ่อได้บอกกับพวกเขาว่า โยมทั้งหลายไม่ต้องตกใจเรื่องส้มจะไม่ติดดอกออกผล ขอให้ใจเย็น ๆ คอยดูไปเถิด ชาวสวนส้มก็ยังไม่พอใจอีก หลวงพ่อจึงพูดอีกว่า อาตมาขอรับประกัน สวนส้มในละแวกอาศรมนี้ จะตกดีกว่าปีที่ผ่านมานี้อีก โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรทั้งสิ้น “เพราะเทวดาท่านจะช่วย” หลวงพ่อว่าไว้ดังนี้
ชาวบ้านได้ฟังแล้วก็พอใจ ลากันกลับไป เวลาผ่านไปไม่นาน ปีนั้นเอง ปรากฏว่าบริเวณสวนส้มที่ควันไฟพัดไปนั้น ติดดอกออกผลลูกโตใหญ่ทุกต้น ชาวสวนส้มต่างเก็บขายกันได้เงินมากมาย จึงพากันพูดว่า วาจาของท่านศักดิ์สิทธิ์จังเลย ท่านพูดคำไหน ก็เป็นตามนั้น
นี่เป็นเรื่องแปลกและปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโอภาสีอีกเรื่องที่ยังคงเล่าสู่กันมาจนวันนี้
หลวงพ่อได้พูดให้ชาวบ้านผู้ยังกังขาฟังในเวลาต่อมาอีกว่า การที่อาตมาได้นำเอาวัตถุปัจจัยทั้งหลายที่คนมาถวายให้ นำมาเผาไฟนั้น มิได้เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลแต่อย่างใด แต่เป็นการบูชาสักการะแด่อำนาจพุทธานุภาพ ที่ได้เป็นการสักการะบูชาของมนุษย์และเทวดามาแล้วในอดีต ดลบันดาลให้อานุภาพเหล่านั้นมาช่วยดับร้อน ผ่อนคลายจิตใจของมนุษย์ให้เบาบางลง จากอำนาจแห่งความมืดมนของ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ อวิชชาต่าง ๆ ซึ่ง เป็นการดับกิเลสให้หมดสิ้นไป
กองไฟที่ท่านสุมไว้ตลอดนั้น แม้จะมีฝนตกหนัก กองไฟก็ไม่เคยมอดดับ ทุกฤดูฝน คนมักจะเห็นปาฏิหาริย์ในกองไฟเสมอ หลวงพ่อสามารถควบคุม ไฟให้ลุกโชนได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้แมลงบินผ่าน สัตว์เดินผ่าน ก็ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ผลจากการนี้ ทำให้บางคนมาขอเศษขี้เถ้าเพื่อนำติดตัว เป็นเสมือนของขลัง บางคนก็เก็บใส่ปี๊บน้ำตาลไว้ให้ท่านทำวัตถุมงคลต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายไปยังคนอื่น ๆ
จากปากต่อปาก คำต่อคำ ที่เล่าต่อ ๆ กันมา ถึงเหตุที่หลวงพ่อโอภาสีเผาของ ทำให้บรรดาญาติโยมต่างเข้าใจว่า นี่คือปริศนาธรรมของท่านนั่นเอง ทุกครั้งที่มีบรรดาญาติโยมทั้ง ไทย จีน ฝรั่ง แขก ญวน มาหา ท่านจะยิ้มแย้ม เทศนาธรรม สั่งสอน ชี้แนะ อบรมเสมอ คำพูดของหลวงพ่อมักจะแฝงด้วยปริศนาธรรมให้ผู้คนนำกลับไปขบคิด
ตลอดชีวิตของท่าน หลวงพ่อได้ช่วยเหลือผู้คนมากมายไม่เว้นว่ารวยหรือจน ช่วยทั้งด้านของใจ และไม่เว้นแม้แต่เรื่องของกาย คนป่วยไข้ใกล้ตายหลายคนมาหาท่าน บางคนท่านก็บอกว่ายังไม่ตาย บุญเก่ายังมีเหลือ ก็ปรากฏว่าไม่ตายดังท่านว่าจริง ๆ ส่วนบางคนท่านก็บอกว่าบุญหมดแล้ว ให้รีบไปสร้างบุญสร้างความดีกันต่อไป ก็จะไม่ตาย
ครั้งหนึ่ง มีหญิงชราผอมแห้ง เดินทางมากับหลานชาย นำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายท่าน ท่านก็โยนเข้ากองไฟจนหมด หญิงชราบอกกับหลวงพ่อว่า ดิฉันเจ็บป่วยนานมากแล้ว รักษาที่ไหนก็ไม่หาย หมดเงินหมดทองไปเป็นจำนวนมาก อยากให้หลวงพ่อช่วยหน่อย ยังตายตอนนี้ไม่ได้ เพราะหลานยังเล็กอยู่ ยังดูแลตัวเองไม่ได้
หลวงพ่อมองหน้าแล้วก็บอกว่า โยมยังไม่ตายตอนนี้หรอก ยังมีบุญเก่าเหลืออยู่ ว่าแล้วท่านก็ลุกไปหยิบกล้วยตากแห้งที่ท่านได้ปลุกเสกไว้เป็นยารักษาคนมาให้หญิงชราผู้นั้นกิน และท่านก็ให้ตักน้ำมนต์ในโอ่งหน้าอาศรม ไปกินต่างน้ำ
ท่านบอกว่า เดี๋ยวก็หายเอง แล้วท่านก็ถอนหญ้าหน้าอาศรม ๑ กำมือ ท่องคาถา แล้วก็ยื่นให้ไปต้มกินต่างน้ำเช้า-เย็น ต่อมาไม่นาน หญิงชราผู้นั้นก็มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งหายเป็นปกติ จึงได้เล่าถึงความมีเมตตาและความศักดิ์สิทธิ์ในวาจาของหลวงพ่อโอภาสีให้ผู้อื่นฟัง ทุกวัน หญิงชราตั้งหน้าใส่บาตรทำบุญไม่ขาดและนำของมาถวายหลวงพ่อเป็นประจำ
การรักษาผู้ป่วยที่หลวงพ่อทำนั้น มักไม่เหมือนกันทุกรายไป บางรายท่านก็ให้เขียนชื่อ วัน เดือน ปีเกิด เป็นโรคอะไร แล้วส่งให้ท่าน ท่านท่องคาถาแล้วก็โยนลงไปในกองไฟ บางคนท่านก็ให้กระดาษยันต์คาถาของท่านไปเผาไฟใส่น้ำกิน
หลวงพ่อเคยพูดไว้ว่า คนเรายังไม่ถึงคราวตายมันก็ไม่ตายหรอก เมื่อหมดเวรหมดกรรมแล้ว ทุกคนก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครหนีความตายพ้น มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์โลก อย่าไปยึดติดกับมัน หมั่นทำความดี อย่าสร้างเวรกรรม แล้วชีวิตจะดีเอง
เรื่องการมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมนั้น หลวงพ่อก็ได้ช่วยไปหลายราย อย่างกรณีของชายจีนผู้หนึ่ง ที่ได้ยินความมีเมตตาของหลวงพ่อว่าท่านเป็นเทพ เจ้าแห่งความยากจน ช่วยคนให้ร่ำรวยได้ ถ้าคนนั้นเป็นคนดีและขยัน ชายจีนผู้นี้จึงหาเวลามากราบหลวงพ่อ ก่อนออกจากบ้าน เขาหยิบเงินใต้หมอนออกมานับ ทั้งหมดเป็นธนบัตรใบละร้อยจำนวน ๑๒ ใบ เขาเก็บเงิน ๑,๐๐๐ บาท ไว้ใต้หมอนที่เดิม แล้วนำเงิน ๒๐๐ บาทมาใส่กระเป๋า ตั้งใจไว้ว่าจะนำมาถวายหลวงพ่อ
“หลวงพ่อ ขั้วทำบุญอะไรก็ได้ ๒๐๐ บาทครับ” ชายจีนกล่าว หลวงพ่อโอภาสียิ้ม แล้วถามว่า “เสียดายมั้ย” ชายจีนก็ตอบว่า “ทำบุญ กับหลวงพ่อ ไม่เสียดายหรอก” หลวงพ่อจึงเอาธนบัตรใบละสองร้อยนั้นโยน เข้ากองไฟ ชายจีนคนนั้นก็ตกใจมาก ร้องไอ้หยา ทำไมหลวงพ่อทำอย่างนั้นละครับ ประเทศจีนมีแต่เผากระดาษเงินกระดาษทอง ไม่เคยเผาเงินจริง ๆ เลย หลวงพ่อทำแบบนี้ไม่ถูกนะ อั๊วเสียดายเงิน หลวงพ่อก็ตอบกลับมาว่า ถ้าโยมเสียดาย ก็ให้กลับไปเอาคืนที่เก่านะ
ตอนนั้น ชายชาวจีนหมดศรัทธาในหลวงพ่อทันที เมื่อกลับถึงบ้าน อาบน้ำ และเตรียมตัวเข้านอน ก็เอาเงินใต้หมอนออกมานับเหมือนเคย ปรากฏว่าเงินอยู่ครบ ๒,๐๐๐ บาท รุ่งขึ้นแต่เช้ามืด เขาจึงกลับไปขอขมาหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า คนขยันอย่างโยม ไม่รวยวันนี้ก็วันหน้าแน่นอน
ต่อมาอีกเพียงไม่กี่ปี ชาวจีนผู้นี้ก็ทำการค้าจนร่ำรวย และได้นับเงินหมื่น มาถวายหลวงพ่อ ให้หลวงพ่อเผาไฟอีก กลายเป็นศิษย์หลวงพ่ออีกผู้หนึ่ง ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาวัดหลวงพ่อโอภาสีเรื่อยมา
การหยั่งรู้เสมือนหนึ่งมีหูทิพย์ตาทิพย์ของท่านนั้น ก็เป็นที่กล่าวขวัญถึง ท่านสามารถรับรู้ถึงความต้องการของผู้ที่จะไปหาท่าน หรือพูดถึงท่าน พอพบท่านแค่ก้มลงกราบ ยังไม่ทันเงยหน้าขึ้นมา ท่านก็พูดถึงความต้องการของคน ๆ นั้นออกมาเลย บางคนนินทาท่านมานานแล้ว ก็พูดออกมาตามคำนินทานั้น ทุกคนที่ได้ยินก็ ต่างก้มกราบขอขมาเป็นการใหญ่ บางคนอายท่าน ไม่กล้าสู้หน้าก็รีบลงจากอาศรมลุกหนีไปเลยก็มี แต่ท่านก็มีเมตตาให้กับทุกคนเสมอมา และบอกว่า “มันเป็นเรื่องปกติของโลกมนุษย์”
ประชาชนบางคนที่มาได้นำเอาพระพุทธรูปและปูชนียวัตถุต่าง ๆ มา ถวายท่าน ท่านไม่นำไปเผาไฟ แต่ให้ลูกศิษย์นำไปฝังดิน ภายในเขตพุทธญาณโอภาสีทั้งหมด ประชาชนก็ถามหลวงพ่ออีกว่า ทำไมต้องฝังดิน ท่านก็ได้อธิบายว่า ที่ต้องฝังของเหล่านั้น ก็เพราะว่าท่านไม่ต้องการจะสร้างที่เก็บ ให้ฝากแม่ธรณีไว้ดีกว่า ให้ท่านเก็บรักษาเอาไว้ แล้วท่านก็ทำพิธีในการฝังพระพุทธรูป เวลาฝัง ท่านเอาเศียรพระลงดินไปก่อนเสมอ ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้า ที่ดินตรงนี้จะมีคนเดินผ่านไปมามากมาย หากว่าเอาฐานลงก่อน โผล่เศียรพระขึ้นมา ก็เกรงว่าคนรุ่นหลังที่ไม่ทราบเรื่องก็จะ เดินเหยียบย่ำผ่านแล้วเป็นบาปกันไปหมด
เคยมีคนสงสัยว่า ทำไมหลวงพ่อไม่สั่งให้สร้างศาสนสถานใด ๆ ขึ้นใน อาณาเขตสำนักพุทธญาณโอภาสีนี้เลย ท่านก็ได้อธิบายว่า การที่เราสร้างอะไรที่เป็นเหมือนการสะสมกิเลสให้มีเพิ่มมากขึ้นอีก สร้างแล้วเราก็ต้องมาดูแลรักษา จะทำให้จิตใจไปติดอยู่กับวัตถุที่สร้างขึ้นมาเสียมากกว่า ซึ่งนั่นจะเป็นอุปสรรคในการบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติธรรมได้ ด้วยเหตุนี้ ในยุคสมัยที่หลวงพ่อโอภาสียังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีการสร้างอันใดเลย
เมื่อหลวงพ่อตัดสินใจอยู่ที่สวนบางมดแห่งนี้แล้ว ท่านก็มิได้ย้ายไปที่ไหนอีกเลย ที่นี่มีลักษณะเป็นเพียงที่พักของสงฆ์เท่านั้น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๕๘ ปี ทางพุทธสมาคมแห่งประเทศอินเดียก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปประชุมพระสงฆ์โลกที่ประเทศอินเดีย
ตามกำหนดการนั้น การเดินทางไปอินเดียเป็นวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ แต่หลวงพ่อขอเลื่อนไปช้าอีกหนึ่งวัน เป็นวันที่ ๓๑ ตุลาคม แต่ท่านได้ให้ลูกศิษย์ ๒ คน ของท่าน คือ นายสนิท วชิรสาร และ นาย ยี. อี. เอิร์ด เดินทางล่วงหน้าไปก่อน ครั้นเวลาเดินทางใกล้มาถึง หลวงพ่อบ๋าวเอิง ซึ่งเป็นสหายธรรมของท่านได้ยินข่าวว่า หลวงพ่อจะไปประชุมสงฆ์โลกที่ อินเดีย ก็ได้เดินทางมาหาหลวงพ่อที่อาศรม เพื่อขอร่วมเดินทางไปอินเดียด้วย แต่หลวงพ่อโอภาสีพูดขึ้นมาว่า ตอนนี้ท่านบ๋าวเอิง ยังมีธุระอยู่อีกมากมาย อย่าเพิ่งเดินทางติดตามท่านไปเลย การเดินทางครั้งนี้ อาตมาไม่ได้ใช้พาสปอร์ตหรอกนะ เอาไว้ให้ท่านบ๋าวเอิงเสร็จธุระก่อน แล้วค่อย เดินทางตามไปทีหลังก็แล้วกัน
เวลานั้น หลวงพ่อบ่าวเองไม่ได้คิดแปลกใจอะไรในคำพูดดังกล่าว แต่พอหลวงพ่อมรณภาพลง หลวงพ่อบ๋าวเอิงจึงได้มานั่งคิดลำดับคำพูดของหลวงพ่อดู ก็รู้แจ้งว่า การเดินทางไปอินเดียของหลวงพ่อในครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปแบบพิเศษมากจริง ๆ
ก่อนจะถึงกำหนดเดินทางหนึ่งวัน เป็นวันทอดกฐินประจำปี หลวงพ่อท่านก็ได้รับกฐิน เมื่อรับเสร็จท่านก็เอาทุกอย่างเผาลงไปในกองไฟหมด และในวันเดียวกันนั้น ท่านได้เรียกลูกศิษย์ใกล้ชิดมาสั่งสอนอะไรมากมายหลายอย่าง อย่างที่ท่านไม่เคยทำมาก่อน และท่านก็ได้พูดถึงการเดินทางไปอินเดียในวันพรุ่งนี้ว่า ท่านเดินทางไปแล้ว ก็จะกลับมาอีก ในขณะที่ท่านไปนั้น ของทุกอย่างของท่าน อยู่อย่างไรก็ให้อยู่อย่างนั้น อย่าได้แตะต้องเด็ดขาด จนกว่าท่านจะเดินทางกลับมา ก่อนที่ท่านจะเข้าไปจำวัด หลานชายของท่าน คือ นายอุดร มะลิพันธุ์ ซึ่งได้ไปอุปสมบทที่วัดอนงคาราม ธนบุรี และกลับมาจำพรรษาที่วัด ก็ได้สังเกตเห็นว่าท่านมีอาการอาพาธเพียงเล็กน้อย
คืนนั้น ท่านเข้าจำวัดแล้ว ท่านก็ยังถามลูกศิษย์ที่เฝ้าเวรยาม ไฟในบาตรที่ปกติท่านก่อไว้หน้ากุฏิว่า เที่ยงคืนหรือยัง ลูกศิษย์ที่เข้าเวรคอยเติมไฟอยู่ ก็ตะโกนบอกเวลาหลวงพ่ออยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเวลาเที่ยงคืนสิบสองนาที เสียงของหลวงพ่อก็หายเงียบไป ตอนนั้นพระอุดร มะลิพันธุ์ หลานชายของท่าน ก็ได้มานั่งเฝ้าเวรอยู่ด้วย ได้เห็นความผิดปกติที่เตียงแคร่ของท่าน คือเห็นร่างของท่านลอยขึ้นมาจากที่นอน พระอุดรรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก จึงออกไปตามศิษย์หน้ากุฏิมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับหลวงพ่อกันแน่ พอศิษย์ขึ้นมาก็เห็นหลวงพ่อนอนสงบนิ่งในท่าจำวัดแบบนี้ทุกวัน จึงปลดมุ่ง กางลงให้ท่าน แล้วก็ปล่อยให้ท่านจําวัดต่อไป
จวบจนรุ่งเช้าวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันที่หลวงพ่อต้องออกเดินทางไปอินเดีย ลูกศิษย์ได้เข้าไปปลุกหลวงพ่อ เห็นท่านจำวัดในท่าปกติ ก็เรียกท่านแต่ท่านไม่ได้โต้ตอบอันใด จึงปลดมุ่งขึ้นแล้วจับตัวท่านดู ก็เห็นว่าตัวท่านเย็นมาก จึงเอามือลองอังดูลมหายใจตรงใต้จมูก ก็ปรากฏว่าไม่มี ลมหายใจเข้า-ออกแต่อย่างใด ทุกคนที่อยู่ในบริเวณอาศรมต่างก็รีบรุดมาดูหลวงพ่อ แล้วศิษย์คนหนึ่งก็พูดออกมาว่า หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพแล้ว
ข่าวการมรณภาพของหลวงพ่อโอภาสีนั้น แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ลูกศิษย์ทั้งใกล้และไกลต่างก็มาเคารพศพ ส่วนทางเจ้าหน้าที่อำเภอบางมด ก็ได้ทำเรื่องรายงานไปยังสำนักพระราชวัง ทางสำนักพระราชวังก็ได้จัดส่งห่อผ้าพระราชทานมาให้ ทางลูกศิษย์ก็ได้จัดการเปลี่ยนจีวรให้ใหม่ แล้วเอาผ้าพระราชทานห่อศพอีกครั้ง ก่อนบรรจุลงในโลงไม้ แล้วเคลื่อนย้ายศพของท่านไปไว้ที่อาศรมกลางน้ำ มีการนิมนต์สหายธรรมของท่านมาร่วมกันทำพิธีตามประเพณีไทยทุกประการ เว้นแต่ไม่ได้เผาศพของท่านเท่านั้น
ศพของหลวงพ่อโอภาสี วางอยู่ในโลงที่อาศรมกลางน้ำในสวนบางมดแห่งนั้นจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะศิษย์ของหลวงพ่อตลอดจนประชาชนที่เคารพหลวงพ่อทั่วสารทิศ ได้รวบรวมกำลังทรัพย์เพื่อสร้างพระเจดีย์ครอบศาลาเก็บศพกลางน้ำของหลวงพ่อไว้ และให้ชื่อว่า “พระเจดีย์จุฬามณี” ปัจจุบัน พระเจดีย์นี้ยังคงเห็นเด่นเป็นสง่าอยู่ในสำนักพุทธญาณโอภาสีมา จนทุกวันนี้
และเช่นเดียวกัน การมรณภาพของหลวงพ่อโอภาสี ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ศิษย์เก่าและใหม่มาจนกระทั่งปัจจุบัน
ศิษย์บางท่านบอกว่า ความจริงแล้วหลวงพ่ออาจจะยังไม่มรณภาพ เพียงแต่ท่านถอดจิตวิญญาณออกไปประเทศอินเดียเท่านั้นเอง เพราะก่อนหน้านั้น ท่านก็ยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่ ไม่ได้เจ็บป่วยหนักด้วยโรคร้ายใด ทำกิจกรรมทางศาสนาได้ตามปกติ อีกทั้งท่านยังไม่ชราภาพ อายุเพียง ๕๘ ปี
นอกจากนี้ นาย ยี. อี. เอิร์ด ซึ่งได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนนั้น ได้เล่าให้ฟัง ในภายหลังว่า เมื่อเขาและนายสนิท วชิรสารเดินทางไปถึงอินเดียแล้วนั้น ก็ได้ไปพำนักอยู่ในพุทธวิหารแห่งหนึ่ง ตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๓๑ ตุลาคม นั้น ขณะที่เขากำลังคิดเพลิน ๆ ถึงเรื่องการเดินทางมาประเทศอินเดียของหลวงพ่อ เขาก็ต้องสะดุ้งสุดตัวเมื่อเห็นภาพเป็นหลวงพ่อลอยเด่นอยู่ตรงหน้า เหนือศีรษะของเขา ใบหน้าของหลวงพ่ออิ่มเอิบและสดใสเป็นอย่างยิ่ง ภาพนั้นลอยเด่นอยู่สักพัก แล้วจึงค่อย ๆ เลือนหายไป โดยที่หลวงพ่อไม่ได้พูด อะไรกับเขาเลย
จากการได้เห็นภาพหลวงพ่อมาปรากฏแบบนี้ทำให้เขาคิดว่า หลวงพ่อคงจะไม่เดินทางมาแบบธรรมดาเสียแล้ว
พอถึงเวลา ก็มีคนมาบอกเขาว่า มีพระแก่ ๆ รูปหนึ่งมารอพบอยู่ข้างนอก ศิษย์ทั้งสองรู้สึกแปลกใจมาก เมื่อได้ออกมาถึงห้องรับแขก พวกเขาก็ต่างตื่นเต้นดีใจ เพราะพระแก่รูปนั้น ก็คือ หลวงพ่อโอภาสีนั่นเอง ต่างก็ซักถามหลวงพ่อว่า ท่านเดินทางมาอย่างไร ทำไมจึงถึงเร็วนัก หลวงพ่อซึ่งกำลังนั่งหลับตาเฉย ๆ ก็พูดออกมาว่า “ถ้าฉันจะมา ก็ไม่มีอะไรมาห้ามฉันได้นะ ฉันก็มาตามคำพูดแล้ว อย่าแปลกใจกันไปเลย” ศิษย์ทั้งสองขอตัวหลวงพ่อสักครู่ เพื่อกลับไปเอาของใช้ในห้องก่อนที่จะพาหลวงพ่อออกไปชมบ้านเมืองของอินเดียด้วยกัน
ระหว่างทางกลับไปที่ห้องพัก ก็มีคนเอาโทรเลขด่วนจากประเทศไทยมาให้ทั้งสองคน พอทั้งคู่เปิดอ่านโทรเลขก็ต้องตกใจและงุนงงเป็นอย่างมาก เพราะข้อความในนั้นบอกว่า หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพแล้วเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๘ ให้ทั้งสองคนรีบกลับด่วน เพื่อช่วยกันจัดงานศพ
เมื่อทั้งสองย้อนกลับไปที่ห้องรับแขก พวกเขาก็ไม่เห็นหลวงพ่อโอภาสีแล้ว ด้วยเหตุทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้ศิษย์ที่เชื่อว่าหลวงพ่อยังไม่มรณภาพ พากันบอกว่า ถ้าทุกคนเชื่อท่านเสียหน่อย ว่าหลังจากท่านไปแล้ว อย่าได้แตะต้องของทุกอย่างของท่านเด็ดขาด แต่ศิษย์บางคนไม่ทราบ หรือทราบแต่ ไม่เชื่อ จึงได้จัดการย้ายศพและข้าวของของท่านหลายอย่างออกไป ทำให้ดวงวิญญาณของท่านกลับเข้าร่างอีกไม่ได้
หลังการมรณภาพของท่าน พระชม ปภากโร ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายแท้ ๆ ของท่าน ก็ได้รับหน้าที่เข้ามาดูแลสำนักพุทธญาณโอภาสีแห่งนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อและบุคคลทั่วไปที่ศรัทธาหลวงพ่อ ได้เข้ามาช่วยกันพัฒนาและสร้างศาสนสถานหลายอย่างมากขึ้น พระชมอยู่เป็นเจ้าสำนักเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ผู้ที่เข้ามารักษาการแทนต่อจากนั้น คือ พระกิมเส็ง ฐิตธมโม ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของหลวงพ่อโอภาสี และเป็นพี่ของพระชม ก่อนหน้าการมรณภาพของหลวงพ่อโอภาสี พระกิมเส็งก็เคยมาที่นี่ และได้มาพำนักอยู่ประจำช่วงที่พระชมเป็นเจ้าสํานัก
ทางคณะสงฆ์ไม่ได้แต่งตั้งให้พระกิมเส็งเป็นเจ้าสำนักเหมือนหลวงพ่อชม เนื่องจากก่อนที่หลวงพ่อชมจะมรณภาพ ท่านได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินผืนนี้ และทรัพย์สินต่าง ๆ ในสำนักพุทธญาณโอภาสี ทูลเกล้าถวายให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนั้นตามพระราชอัธยาศัย การที่หลวงพ่อชมทำพินัยกรรมนี้ขึ้น เพราะท่านเห็นว่า ที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย หากในอนาคตไม่มีพระรูปใดจำพรรษาอยู่ต่อไป ที่ดินผืนนั้นก็จะถูกคนบุกรุกถือครองตามชอบได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นธรณีสงฆ์ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
แต่ทางสำนักพระราชวังได้ทำจดหมายตอบกลับมาว่า ได้ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนต่างเคารพนับถือ ซึ่งปูชนียวัตถุและปูชนียสถานเป็นศูนย์รวมใจของคนบางมดเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรจัดตั้งให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในเวลานั้น หลวงพ่อกิมเส็งชราภาพมากแล้ว ไม่สะดวกที่จะดำเนินการจัดตั้งวัด จึงได้มอบหมายให้ พระอุสา สุทธิญาโณ ซึ่งเป็นบุตรของหลวงพ่อกิมเส็ง และได้อุปสมบทที่วัดโพธิ์ทอง ก่อนที่จะย้ายมาอยู่สำนักพุทธญาณโอภาสี เป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อยกฐานะของสำนักแห่งนี้ ให้เป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การดำเนินการนี้ใช้เวลาอยู่หลายปีทีเดียว ส่วนหนึ่งนั้น พระกิมเส็งเล่าว่า เป็นเพราะทางกรมศาสนาและมหาเถรสมาคมปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่สามารถใช้ชื่อหลวงพ่อโอภาสีมาตั้งเป็นชื่อวัดได้ เนื่องจากไม่เคยมีแบบนี้ในประเทศไทยมาก่อน เป็นที่น่าเสียดายว่า ระหว่างเวลานั้น หลวงพ่อกิมเส็ง ก็ได้มรณภาพลงไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม หลังจากความพยายามอยู่นาน ในที่สุดเมื่อ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๖ สำนักแห่งนี้ก็ได้รับพระราชทาน ยกฐานะขึ้นมาเป็นวัดได้สำเร็จ และได้ชื่อว่าวัดหลวงพ่อโอภาสี มีเจ้าอาวาสที่ถูกต้องตามกฎหมาย รูปแรก คือ พระอุสา สุทธิญาโณ
เจ้าอาวาสแห่งวัดหลวงพ่อโอภาสี ได้เร่งพัฒนาวัด บูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่แล้วให้คงสภาพดี ฟื้นฟูกฎระเบียบต่าง ๆ ที่หลวงพ่อโอภาสีได้เคยวางแนวทางเอาไว้ ให้นำกลับมาใช้อย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม เช่น การ บูชาเพลิง การห้ามสวมรองเท้าเข้าไปในวัด การห้ามสตรีเข้าไปในเขตหวงห้ามบางที่ เป็นต้น
ทั้งยังเห็นควรที่จะให้มีการสร้างศาสนสถานจำเป็น เช่น พระอุโบสถ เพื่อให้ผู้มีศรัทธาในหลวงพ่อ สามารถเข้าพิธีอุปสมบทในที่แห่งนี้ได้ แต่เนื่องจากการก่อสร้างต่าง ๆ ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก แต่ทางวัดยังไม่มีทุนเพียงพอ จึงใคร่ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาในพุทธ ศาสนาทั้งหลาย ได้แวะมากราบศพของหลวงพ่อโอภาสีและบริจาคเงินสมทบทุนการสร้างพระอุโบสถตามแต่กำลังทรัพย์ของท่าน (ปัจจุบันพระอุโบสถ สร้างเสร็จแล้ว)
และขออย่าได้หลงเชื่อคำแอบอ้างของผู้ไม่ประสงค์ดีทั้งหลาย ที่แอบอ้างชื่อหลวงพ่อโอภาสีไปในทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเข้าทรง ซึ่งหลวงพ่อไม่เคยทำ ขอท่านได้ช่วยกันปกป้องคุณงามความดีที่หลวงพ่อท่านได้เคย สร้างไว้ สิ่งใด ๆ ก็ตามย่อมเป็นไปตามกรรม ผู้ใดทำดี ย่อมได้ดี
คนหว่านพืชพฤกษ์ไม้ พันธุ์ใด ผลเช่นนั้นเร็วไว จักได้ คนทำชั่วดีไฉน จักเปล่า ผลฤา ปวงเหตุจักนำให้ คลับคล้าย คลึงตนฯ
ที่มา : หนังสือ ประวัติหลวงพ่อโอภาสี ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ปิดทองและฝังลูกนิมิตรวัดหลวงพ่อโอภาสี พ.ศ.๒๕๕๔
Comments are closed.