ยาดีพุทธโอสถ (สูตรหลวงพ่อโอภาสี)
สรรพคุณ แก้โรคต่าง ๆ ทั้งระงับทุกข์คุ้มโทษภัยได้ เป็นยา อายุ วรรณะ สุขะ พละ สำหรับคนที่มีวาสนา ถึงแม้ไม่มีวาสนา ถ้าได้ใช้ ยานี้ก็เป็นคนมีวาสนาขึ้นได้ ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ต้องการไม่เลือกหน้า
เครื่องยา
๑. น้ำใจอารีอารอบ เมตตา กรุณา อัธยาศัยอ่อนโยน ฯ
๒. สัตย์ซื่อมั่นคง ในสัญญาและกิริยาที่ปลงใจเห็นเป็นธรรม ฯ
๓. ประเพณี พิธีการ เพื่อสามัคคีและประโยชน์ ฯ
๔. กตัญญูกตเวที ควรแก่ฐานะแห่งตน และท่าน ฯ
๕. ศีลธรรมบริสุทธิ์ ไม่ยอมทำความชั่ว เพราะเห็นแก่ตนและผู้อื่น หรือเห็นแก่ประโยชน์ และความสะดวกเล็กน้อย
๖. อดทนต่ออนิฏฐารมณ์ อันเผอิญมาประสบเข้า ฯ
๗. อารมณ์ทั้งมวลที่มาถึง พึงเห็นว่าเพราะกรรมแห่งตนเป็นปัจจัย ไม่ดูหรือเที่ยวไปตาม ฯ
๘. พากเพียรบากบั่น เพื่อความมั่นแห่งคุณธรรมที่ประสงค์
๙. ทำความพอใจในคุณธรรมส่วนชอบที่พิจารณาแล้วให้เจริญ ฯ
๑๐. ไม่วางธุระและอธิษฐานใจ ในกิจที่เห็นชอบโดยธรรม ฯ
๑๑. พิจารณาสอบสวนทดลอง แก้ความติดขัดอันพึงมีขึ้นให้พ้นลงได้ แม้ทีละน้อย ๆ อย่าท้อถอยเสียง่าย ๆ
ของแสลงล้างยาอย่ากิน
๑. แกล้งแสดงอาการลวงผู้อื่น ด้วยคิดว่าเขาไม่รู้เท่าทันตน
๒. หาชื่อเสียง ลาภ ยศ ด้วยทุจริต
๓. ระเริงใจไม่ทำการตามหน้าที่
๔. ใจน้อย หูเบา เชื่อง่าย
๕. ทิฐิมีความเห็นเข้าแก่ตัว ไม่ยอมผิดเมื่อผิด
๖. มานะถือตัวโดยมิใช่ฐานะ ยอมทอดทิ้งความดีเพื่อสมประสงค์ แม้ไม่เป็นประโยชน์
๗. โลภอยากได้ความบริบูรณ์ฟุ่มเฟือยเกินส่วน
๘. โกรธแค้นเพราะไม่สมประสงค์ เบียดเบียนเพราะไม่ยอมให้ผู้อื่นมีบ้าง
๙. คิดพลุ่นพล่านไม่มีหลักเหตุผล ด้วยอำนาจความอยาก
เมื่อตั้งใจให้เป็นกลาง ตั้งหลักให้มั่นดี เก็บเครื่องยาทั้ง ๑๑ สิ่งนี้มาปรุง ประสมล้วนให้ควรกันแล้วปักเฉลวกับวิทยาธรที่อุบาทว์ ทั้ง ๔ (ความแฉะชา ชืดจาง ลืม ผัดเพี้ยนเวลา) ผู้จะมาทำยาให้เสื่อมฤทธิ์เหล่านี้ ด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว เอาใส่หม้อคือห้องดวงใจ ต้มเคี่ยวไปด้วยใจ คือสติ เพียรพิจารณาเนือง ๆ ให้รสยาออก รับประทานเช้าเย็นไม่เป็นโรค ถ้ารับประทานเป็นนิตย์ หาโรคมิได้เลย
ที่มา : หนังสือชวนภาษิต
ประพันธ์โดยหลวงพ่อโอภาสี
Comments are closed.