เรื่องราวความสัมพันธ์ของ สมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกา กับ หลวงพ่อโอภาสี
สมเด็จพระบรมครู หลวงพ่อเขาสาริกา บางคนเรียกท่านว่า “หลวงพ่อกบ” บ้าง “หลวงพ่อเขาเหนือ” บ้าง
ศิษย์ทั้งสายเขาสาริกาและศิษย์องค์หลวงพ่อโอภาสี ให้ความเคารพองค์ท่านซึ่งกันและกันอย่างสูง ศิษย์ในยุคนั้นใช้คำพูดเทิดทูนทั้งสองพระองค์ด้วยคำราชาศัพท์ ดังสมมุติเทพชั้นสูงทีเดียว
มีหลักฐานจากปากคำของศิษย์สมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกาว่า องค์หลวงพ่อโอภาสีเคยมาพบหลวงพ่อเขาสาริกาเมื่อครั้งท่านธุดงค์สมัยยังเป็นมหาชวน ทั้งสององค์มีอะไรที่เหมือนกันมาก เช่น การใช้ยันต์สวัสดิกะ ซึ่งเป็นยันต์โบราณมีมากว่า 5,000 ปี ผู้ที่ใช้ยันต์นี้ ต้องเป็นผู้มีบารมีสูงส่ง ซึ่งในเมืองไทยมีอยู่ไม่เกินสามรูปเท่าที่ทราบ และสององค์นั้น คือ สมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกา กับองค์หลวงพ่อโอภาสี


นอกจากนี้ สิ่งที่เหมือนกัน คือการเจริญเตโชกสิณด้วยวิธีเผาไฟและเผาสิ่งของต่าง ๆ ที่คนนำมาถวาย มีเรื่องราวเล่าอยู่หลายครั้งจากหมู่ศิษย์ทั้งสองฝ่ายว่า ทั้งสองพระองค์ใช้ญาณติดต่อซึ่งกันและกัน และในวันละสังขารของสมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกา ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ องค์หลวงพ่อโอภาสีท่านก็รับทราบด้วยญาณ และส่งศิษย์ล่วงหน้าไปช่วยงานที่วัดเขาสาริกา ก่อนองค์ท่านจะเดินทางตามไปในงานถวายพระเพลิง วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๗
บันทึกการเดินทางโดยย่อ ในคราวองค์หลวงพ่อโอกาสีไปถวายพระเพลิงสมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกา
สมเด็จพระบรมครูหลวงพ่อเขาสาริกา ละสังขารเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ เวลา ๑๕.๓๕ น. องค์หลวงพ่อโอภาสีท่านเดินทางไปถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๗ เดินทางโดยใช้เส้นทางทางรถยนต์ มีขบวนรถยนต์เดินทางไป ๕ คัน และรถจักรยานยนต์ ๑ คัน ออกเดินทางเวลา ๐๘.๐๐ น. ออกจากบ้านสุรคามเข้าลพบุรี ผ่านเขาพระงาม เขาวงพระจันทร์ เข้าตลาดบ้านหมี่ วิ่งข้ามทางรถไฟ ถึงเขาสาริกา เวลา ๑๓.๐๐ น. เริ่มพิธีถวายพระเพลิงเวลา ๑๗.๐๐ น. เรื่อยไปจนถึงเวลา ๐๕.๓๐ น. ของวันใหม่
องค์หลวงพ่อโอภาสีท่านจึงไปที่พระเมรุ และถอดพระธำมรงค์ออกจากนิ้วซ้าย ๑ วง และธำมรงค์ จปร. ไขว้ อีก ๑ วง และไม้ธารพระกร ใส่ลงไปในพระเมรุด้วย หลังจากนั้นท่านจึงเดินทางกลับเส้นทางเดิม



และกลับมาอีกครั้ง ในปีต่อมาเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จพระบรมครู ที่เขาสาริกาด้วยท่านเอง และองค์ท่านยังได้สั่งให้สร้างพระพุทธบาทจำลองครอบตรงพระเมรุ เพื่อให้คนมาสักการะกราบไหว้ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒

Comments are closed.