หลักโลกและหลักธรรม สองหลักแห่งปริศนาธรรม
หลักโลก คือ หลักพญามังกรพันเสา ๕ ขนด เปรียบได้กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นธรรมดาของโลก ที่มนุษย์เราที่ยังใช้ชีวิตเป็นปุถุชนคนธรรมดายังมีสิ่งเหล่านี้ (ขอพรเกี่ยวกับทางโลก ควรขอที่หลักนี้)
หลักธรรม คือ องค์พระยืนปางเปิดโลก พระเปิดโลก องค์นี้เป็นองค์แทนหลวงพ่อโอภาสี ที่เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตให้กับบุคคลที่มีดวงตาที่เห็นธรรม (ขอพรทางธรรมได้ที่หลักธรรมนี้ได้)
พญาครุฑจะบินได้ก็ด้วยปีกทั้ง ๒ ข้าง พระศาสนาก็เช่นกัน จะอยู่ได้ก็ด้วย หลักธรรม และ หลักโลก
ในเรื่องการสร้าง ๒ หลักนี้ คือ ในปีที่น้ำท่วมกรุงเทพมหานครเมื่อปี ๒๔๘๕ มีท่อนซุงไม้สัก ๒ ต้น ลอยมาหาท่านที่ อาศรมบางมด
หลวงปู่โอภาสีท่านจึงได้มอบให้คนนำไปแกะเป็น หลักโลก และ หลักธรรม ที่ประดิษฐานในวัดหลวงพ่อโอภาสีถึงปัจจุบันนี้ แต่ไม่ได้มีการบันทึกว่าใครที่เป็นผู้แกะหลักทั้งสอง
แต่เท่าที่ข้าพเจ้าได้ยินมานั้น ก็คือ สตรีชาวนครสวรรค์ท่านหนึ่ง ชื่อคำ เป็นผู้แกะถวาย ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นคนนครสวรรค์ จึงพยายามตามหาว่าสตรีท่านนี้เป็นใคร ช่างมีบุญแท้ ๆ และข้าพเจ้าก็ทราบแล้วว่า สุภาพสตรีท่านนั้น ก็คือ “คุณยายขำ เสรีพันธ์” ผู้ที่เคารพนับถือหลวงพ่อโอภาสีเป็นอย่างมาก
จากการรวบรวมข้อมูล คือ เวลาข้าพเจ้าขึ้นเขาวงพระจันทร์ไปปฏิบัติธรรมอยู่กับองค์หลวงปู่เกษมบนยอดเขา ข้าพเจ้าจะได้ยินหลวงปู่เกษมท่านกรวดน้ำให้ ป้าขำ เสรีพันธ์ เป็นประจำ เพราะในยุคนั้น จะมีคนนครสวรรค์สักกี่คนที่จะมีโอกาสมากราบหลวงพ่อโอภาสีท่านที่อาศรมบางมด
(คัดจากบทความบางตอนของคุณจักกฤษณ์ อยู่สมพงษ์)
พระสรีระแห่งองค์หลวงพ่อโอภาสี ยังคงตั้งอยู่เบื้องกลางระหว่างหลักโลกและหลักธรรม เป็นที่สักการะและเตือนสติแก่ศิษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกชนชั้น ทุกภูมิธรรม
ท่านได้นำพาผู้คนเข้าสู่กระแสธรรมด้วยอุบายที่แยบยล เหมาะสมกับระดับความสามารถใน การรับธรรม และจริตศรัทธาการเรียนรู้ที่แตกต่างของแต่ละคน ท่านได้มอบแสงสว่างผ่านปริศนาธรรมที่ปรากฏในบทประพันธ์ ผ่านวัตรปฏิบัติ ผ่าน สิ่งก่อสร้างที่ล้วนแต่ให้ปัญญา พระมนต์คาถา วัตถุมงคลเครื่องราง ที่เปี่ยมด้วยอานุภาพสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนร่ำลือและนับถือในคำสอนอีก
ทั้งเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์สะท้อนให้เห็นโดยนัยว่าท่านสามารถควบคุมธาตุสี่หยั่งรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกและธรรมที่มีการเกิดและการดับเป็นสัจธรรมแท้ ซึ่งไม่อาจควบคุมได้ “แก่นดินสอ บ่อน้ำใส ใจหนุมาน” “เหนือใต้ไม่รู้ ออกตก แน่นอน”
และอีกหลากหลายคำสอนที่เตือนให้ศิษย์เกิดสติละวางกิเลส วางอุปทาน ความยึดถือในลาภยศ สรรเสริญ และความสุขมิใช่การแสดงออกเพียงเปลือกนอก แต่ปล่อยวางอย่างบริสุทธิ์จากจิตโดยแท้ แล้วสัจธรรม ได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความเป็นทุกข์) และอนัตตา (ความไม่มีตัวตน) ก็จะปรากฏเป็นแสงสว่างแห่งปัญญาธรรมนำศิษย์ผู้นั้นสู่กระแสแห่ง “พุทธญาณ” ในที่สุด
ที่มา : หนังสือชวนภาษิต และบทความบางตอนของ คุณจักกฤษณ์ อยู่สมพงษ์
Comments are closed.